ไทย-ไต้หวัน จับมือพัฒนาอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ - Forbes Thailand

ไทย-ไต้หวัน จับมือพัฒนาอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ

สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน (Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) ร่วมกับ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาระดับนานาชาติ ไทย-ไต้หวัน อุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และจัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากไต้หวันเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

Jason Hsu  ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยและไต้หวัน มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากันอย่างแนบแน่น โดยในปี 2017 บริษัทชาวไต้หวันลงทุนในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 14.48 พันล้านเหรียญ  ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไทย รวมทั้งได้รับการจัดอันดับให้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย ดังนั้นไทยจึงถือเป็นหุ้นส่วนที่สาคัญของไต้หวันในด้านการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม โดยไต้หวันมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องและเอื้อต่อการพัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0

ด้าน มีธรรม ณ ระนอง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ 7 จังหวัด ได้เเก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนเเก่น กรุงเทพ ชลบุรี ระยอง เเละฉะเชิงเทรา  โดยมีเเผนจะขยายไปยัง 28 จังหวัด เช่น อุบลราชธานี พิษณุโลก เป็นต้น ซึ่งตอนนี้กำลังผลักดันให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเข้าไปในเเผนเเม่บทการพัฒนาเมืองในท้องถิ่นต่างๆ ภายใน 4 ปีนี้ ด้วยการร่วมมือกับประชาชน ภาคเอกชนเเละหน่วยบริหารท้องถิ่น

โดยมีความคืบหน้าในเมืองต่างๆ เช่น ในจังหวัดขอนเเก่น จะมีการใช้ระบบรางในขนส่งมวลชน มีการเชื่อมโยงข้อมูลการเเพทย์ระหว่างโรงพยาบาล ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนย้ายการรักษาได้ทันที ไม่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยาก ขณะที่ภูเก็ตเเละเชียงใหม่ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นรายได้หลักของเมือง โดยมีการใช้ในด้านรักษาความปลอดภัย เชื่อมต่อกล้องวงจรปิด ทำระบบอำนวยความสะดวกเเละให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น

ขณะเดียวกันเมืองใหญ่ที่กำลังจะพัฒนาต่อไป เช่น อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่เชื่อมชายเเดนลาว มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเเละธรรมชาติที่น่าสนใจ เเต่ปัจจุบันยังคงประสบปัญหาการขนส่งมวลชนยังไม่ดีพอ เเละการไปเที่ยวตามจุดต่างๆ ยังต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว จึงมีโครงการที่จะพัฒนาด้านระบบขนส่งสาธารณะให้คนเข้าถึงเเละสะดวกสบายมากขึ้น

"การพัฒนาพัฒนาเมืองอัจฉริยะในไทยอยู่ในช่วงเฟสที่ 2 กำลังจะเข้าเฟส 3 โดยในอนาคตหวังว่าจะมีดาต้าเเพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ประมวลผลกลาง ให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรเเละพัฒนาได้ตรงจุดเเละคำนวณงบประมาณที่จะขอจากรัฐบาลกลางได้"

ขณะที่ เดชา โฆษิตธนากร กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสายงานส่งเสริมการค้าการลงทุน กล่าวว่า การยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้นวัตกรรมอัจฉริยะการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนนวัตกรรมให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยการร่วมมือกับไต้หวันครั้งนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างบูรณาการ และสามารถแข่งขันได้ในยุคอุตสาหกรรมดิจิทัล

โดย Ming-Yao Tsai รองผู้อำนวยการบริหาร สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน กล่าวเสริมว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสุดยอดนวัตกรรมของผู้ประกอบการไต้หวัน ภายใต้ชื่อ Taiwan Excellence ตราสัญลักษณ์แห่งคุณภาพและนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมจากไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ ซึ่งได้นำผู้ประกอบการไต้หวันชื่อดัง ได้แก่ Tatung, Advantech, VIA Technologies, MSI FUNTORO และ  NEXCOM  มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และเสนอสุดยอดนวัตกรรมในหลายด้าน ตั้งแต่การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระบบการบริหาร ระบบการจัดการ ซอฟท์แวร์ปฏิบัติการ จนถึงการควบคุมและประหยัดต้นทุนด้านพลังงาน

ขณะที่ ธงชัย จินาพันธ์ รองประธานบริหาร Tatung (Thailand) CO,. กล่าวว่า ทางบริษัทได้มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะ smart city และ smart agriculture ที่นำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิต ควบคุมความชื่น เเสงสว่าง อุณหภูมิ รวมไปถึงการบันทึกเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัย นอกจากนี้ทาง Tatung ยังพัฒนา "มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า" ที่สามารถปรับความเร็วได้ 3 ระดับ มีระบบเบรกอัจฉริยะ กันน้ำได้สูงถึง 40 เมตร วิ่งได้ไกล 65 กิโลเมตรต่อการชาร์ทไฟ 1 ครั้ง ช่วยลดมลพิษทางการจราจร

ด้าน Matrix Choong ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Advantech ระบุว่า ทุกวันนี้มีการนำ Internet of things (IoT) มาใช้เพื่อการผลักดันไปสู่การพัฒนา 4.0 ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญอย่างมากเเละมีเเผนจะสร้างอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ เเละการให้บริการ smart city IoT ครบวงจร อาทิเช่น ระบบล็อคประตูระยะไกล ระบบตรวจสอบการเคลื่อนไหวเเบบ Infrared สำนักงานอัจฉริยะ เเละเเท็บเลตเพื่อใช้ในการเเพทย์ เป็นต้น 

Tiffany Lin ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ VIA Technologies ให้ความเห็นว่า การพัฒนาไปสู่ smart city นั้นต้องเผชิญกับปัญหาหลักๆ 2 ประการ คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรเเละบ้านเมืองจราจรเเออัด โดยเธอยกตัวอย่างการพัฒนาระบบขนส่งของไต้หวัน ซึ่งเเต่เดิมในช่วงปี 1980 ยังคงมีจราจรหนาเเน่น ผู้คนไม่นิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เเต่ในปัจจุบันหลังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เเก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง พบว่าจราจรดีขึ้นมากเเละผู้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงมาก 

"ระบบขนส่งมวลชนที่ดีต้องดึงดูดให้คนมาใช้ ต้องมีป้ายบอกเวลาที่เเม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถวางเเผนการเดินทาง วางเเผนการใช้ชีวิตได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศชาติในด้านอื่นๆ" 

โดยทาง VIA Technologies ตั้งเป้าจะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเก็บข้อมูลเเละพัฒนาขนส่งมวลชน เช่น innovation bus ขยายตารางการเดินรถ ซึ่งต่อยอดเป็นรายได้จากการเก็บค่าโฆษณาได้ รวมไปถึงระบบความปลอดภัยในอาคารเเละการดูเเลสุขภาพผู้สูงอายุ

ด้าน Scott Chen ผู้ช่วยรองประธานบริหาร MSI และกรรมการผู้จัดการบริษัท Funtoro เปิดเผยว่า ในส่วนของ smart city ทางบริษัทมีการพัฒนานวัตกรรมจัดการข้อมูลเพื่อความบันเทิงเเละการขับขี่ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์ เช่น รถโค้ชท่องเที่ยวที่มีความบันเทิงบนหน้าจอ ตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง ช็อปปิ้งได้ เเละสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่กับศูนย์ควบคุมผ่านเเอปพลิเคชั่นบนสามาร์ทโฟนได้ รวมถึงการร่วมมือกับเหล่ารถบริการ taxi ที่เพิ่มทั้งความปลอดภัย ทันสมัยเเละความบันเทิง 

Grace Yang ผู้จัดการฝ่ายแห่ง Nexcom กล่าวว่า เทคโนโลยีต้องช่วยให้เราได้งานมากขึ้น เเต่ทำงานน้อยลง ใช้เวลาน้อยลง ระบบขนส่งต้องมีความปลอดภัย เเละรับรู้ข้อมูลได้มากขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้พัฒนา ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่อัจฉริยะ ที่มีการนำระบบ GPS มาประมวลผลระหว่างรถยนต์เเละศูนย์ข้อมูล รวมถึงการพัฒนาเส้นทางการเดินรถของรถพยาบาล ให้มีการความรวดเร็วโดยใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนสัญญาไฟจราจร เพื่อให้สามารถนำผู้ป่วยไปรักษาให้ทันท่วงที เป็นต้น