หรูหราอย่างเป็นกันเอง บนเรือสำราญ Seven Seas Voyager - Forbes Thailand

หรูหราอย่างเป็นกันเอง บนเรือสำราญ Seven Seas Voyager

พนักงานบนเรือกำลังจัดเตรียมแชมเปญต้อนรับผู้โดยสารที่หน้าประตู ในขณะที่เราเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมบนเรือสำราญ Seven Seas Voyager เรือครุยส์ขนาดกลางแต่อำนวยความสะดวกและบริการระดับลักชัวรีของบริษัท Regent Seven Seas Cruise

Seven Seas Voyager เป็นเรือครุยส์ขนาดกลาง วัดจากความยาวเรือ 204 เมตร สูง 9 ชั้น (นับเฉพาะชั้นโดยสาร ชั้น 4-12 ) จุผู้โดยสารได้ 700 คน ในวันที่เราเยี่ยมชมเรือที่ท่าแหลมฉบัง Voyager เพิ่งเดินทางมาจากฮ่องกง และกำลังจะออกเดินทางต่อไปที่เกาะสมุย สิงคโปร์ จากนั้นข้ามทะเลอันดามันไปยังประเทศศรีลังกา เรือลำนี้วางตัวในตลาดเป็นครุยส์ระดับลักชัวรี แม้การตกแต่งภายในที่เห็นอาจจะไม่ได้อลังการมาก เพราะเน้นเฟอร์นิเจอร์แบบคลาสสิกเรียบง่าย แต่เครื่องใช้ภายในเรือเป็นของระดับไฮเอนด์ทั้งหมด อาทิ อ่างอาบน้ำหินอ่อน, ชุดรับประทานอาหารแบรนด์ Versace, เครื่องอาบน้ำและเครื่องหอมจาก Guerlain หรือ L’Occitane, เครื่องเสียง Bose
เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจาก Versace
บรรยากาศโดยรวมมีความสงบ เพราะต้องการให้หรูหราอย่างเป็นกันเอง มีการบริการที่ครบถ้วนทั้งอาหารและความสะดวกรวดเร็ว ให้ความใกล้ชิดกับแขก และแขกได้รู้จักทักทายสานสัมพันธ์กัน  Eddie เป็นเจ้าหน้าที่บนเรือที่นำทีมสื่อมวลชนรวมถึง Forbes Thailand เยี่ยมชมบน Seven Seas Voyager วันนี้ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ความกันเองดังกล่าววัดได้จาก เรือลำนี้ไม่มี dress code ประจำเรือ (“แต่ถ้าคุณต้องการใส่เดรสสุดหรูหรือผูกหูกระต่ายเราก็ยินดีเช่นกัน” Eddie กล่าว)  และพนักงานบนเรือจะถูกฝึกอบรมให้จำชื่อแขกผู้เข้าพัก รวมถึงความชอบต่างๆ อย่างละเอียด เพราะแขก 60% เป็นลูกค้าที่มาพักซ้ำ ทั้งยังซื้อแพ็กเกจยาวอย่างน้อย 7 วัน การจดจำรายละเอียดเหล่านี้จึงสร้างความผูกพันและสนิทสนม ทำให้แขกเหมือนได้อยู่บ้านของตนเอง ส่วนความสะดวกรวดเร็วของการบริการ มาจากอัตราส่วนพนักงานต่อลูกค้าของ Seven Seas Voyager ซึ่งมีพนักงาน 450 คน ต่อลูกค้า 700 คน ทำให้พนักงาน 1 คนบริการลูกค้าน้อยกว่า 2 คน  นอกจากนี้ การคิดราคาแพ็กเกจยังเป็นแบบราคาเหมา คือรับประทานและดื่มไม่จำกัดในทุกร้านอาหารบนเรือ (รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) รวมถึงค่าบริการท่องเที่ยวบนเมืองท่าชายฝั่งที่เรือแวะจอด (Shore Excursions) เรียกว่าผู้โดยสารที่จะขึ้นมาบนเรือได้ก็จะต้องพร้อมจ่ายในราคาเต็ม แต่แลกมาด้วยความสะดวก เข้าถึงบริการทุกอย่างแบบไร้ลิมิต (ยกเว้นค่าช้อปปิ้งในร้านค้า duty free และบริเวณคาสิโน) ในอีกมุมหนึ่ง การคิดราคาเหมาเบ็ดเสร็จยังทำให้ผู้ออกค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าแบบกลุ่ม เช่น หัวหน้าครอบครัวที่พาลูกหลานมาท่องเที่ยว บริษัทเลี้ยงต้อนรับคู่ค้าหรือพนักงาน สามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนอีกด้วย ทั้งนี้ ห้องพักบนเรือ Voyager จะมีทั้งหมด 7 แบบ แตกต่างกันตามพื้นที่ใช้สอยและฟังก์ชันภายในห้อง โดย Forbes Thailand มีโอกาสได้เยี่ยมชมห้อง 3 แบบ คือ
Master Suite ห้องขนาดใหญ่ที่สุด พักอาศัยได้ทั้งครอบครัวเพราะมีห้องนั่งเล่น-ทานอาหารตรงกลาง และห้องนอน 2 ห้อง และในห้องมาสเตอร์มีอ่างอาบน้ำหินอ่อน
 
Grand Suite ห้องขนาดรองลงมา เหมาะกับคู่รักที่ต้องการความโอ่โถง เพราะมีพื้นที่ห้องนั่งเล่น โดยมีจุดไฮไลต์คืออ่างจากุสซี่และเก้าอี้อาบแดดริมระเบียง
 
Seven Seas Suite ยังคงมีส่วนนั่งเล่นที่แบ่งออกจากห้องนอนชัดเจน แต่ขนาดเล็กลง จุดเด่นคือห้องไทป์นี้จะมี walk-in closet 
สำหรับอาหารการกินบนเรือครุยส์ลำนี้ จะมีทั้งร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีไลน์บุฟเฟต์ และร้านอาหารเฉพาะประเภท เช่น Prime 7 ซึ่งเสิร์ฟเมนูสเต๊ก Chartreuse ซึ่งเป็นร้านอาหารสไตล์ฝรั่งเศส รวมไปถึงบาร์ และร้านกาแฟอีกด้วย
Horizon Lounge บริเวณจัดการแสดงวงดนตรียามค่ำคืน
Eddie ทิ้งท้ายอีกหนึ่งความโดดเด่นของ Seven Seas Voyager นั่นคือการจัดทริปท่องเที่ยวที่เดินทางไป 3 ทวีปในรอบ 1 ปี เช่น ปี 2018-2019 เรือลำนี้จะเดินทางไปทุกทวีป ไล่จากเอเชีย เมดิเตอร์เรเนียน ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ทวีปอเมริกา “เรือลำนี้เหมาะกับนักท่องเที่ยวผจญภัยจริงๆ เพราะถ้าคุณอยู่กับเรา 2-3 เดือน คุณจะไม่ได้แวะจอดท่าเรือซ้ำเดิมแน่นอนครับ” Eddie กล่าว   Forbes Facts Regent Seven Seas Cruises เพิ่งเปิดจองแพ็กเกจบนเรือลำใหม่ Seven Seas Splendor เมื่อปี 2017 ซึ่งจะเริ่มออกเดินทางสู่ทะเลในปี 2020 เรือลำใหม่นี้จะมีห้องสวีทใหม่เอี่ยมขนาดใหญ่ในชื่อ Regent Suite ที่ใหญ่พอสำหรับวางแกรนด์เปียโนได้ 1 หลัง