หุ้นไทยปัจจัยลบเพียบ ฉุดดัชนีหลุด 1,400 จุด หวังปี 67 ฟื้น - Forbes Thailand

หุ้นไทยปัจจัยลบเพียบ ฉุดดัชนีหลุด 1,400 จุด หวังปี 67 ฟื้น

ตลาดหุ้นไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ฉุดดัชนีหลุด 1,400 จุด ทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ และแรงกดดันในประเทศ จากการควบรวมกิจการหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กรณี JKN กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ลุ้นปี 2567 ตลาดฟื้นตัวจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ


    ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงและหลุด 1,400 จุดอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ จากความกังวลต่อสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก การปรับตัวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ

    รวมทั้งหุ้นไทยเผชิญแรงกดดัน โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่มีการควบรวมกิจการของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัท AWN) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (บริษัท TTTBB) รวมทั้งกรณี JKN ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ

นักลงทุนขายต่อ 1.82 แสนล้าน

    ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 พฤศจิกายน 2566 พบว่าสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 69,571.44 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ขายสุทธิ 3,442.95 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 182,336.25 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศ (รายย่อย) ซื้อสุทธิ 116,207.76 ล้านบาท

    หากดูข้อมูล ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 SET Index ปิดที่ 1,381.83 จุด ปรับลดลง 6.1% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค และปรับลดลง 17.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า

    โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 47,213 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 26.3% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 10 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 55,331 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิเป็นเดือนที่เก้า

    โดยในเดือนตุลาคม 2566 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 15,649 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18

    อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมปี 2566 มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มบริการ เป็นต้น


    ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทย ไม่ได้ลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่การฟื้นตัวแบบ K-Shaped โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดี เช่น กลุ่มเทคโนโลยี ธนาคาร ส่วนที่ฟื้นตัวช้า ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อาหาร การบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มที่มีผลงานดีกว่าภาพรวมตลาด ได้แก่ หุ้นที่ปันผลสูง และหุ้นกลุ่มยั่งยืน

    “มองแนวโน้มในปี 2567 ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จากมีจุดแข็งที่เรามี ทำให้หลายเซกเตอร์มีโอกาสฟื้นตัว เช่น อาหาร กลุ่มแพลนต์ เบส อาหารเพื่อสุขภาพและการรักษาโรค อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การรองรับกลุ่มดิจิทัล นอแมด กลุ่มเมดิคัล แอนด์ เวลเนส ทัวริสต์ รวมถึงกลุ่มซอฟต์เพาเวอร์ รวมถึงการเติบโตของกลุ่มหุ้นยั่งยืนที่มีการลงทุนด้านลดก๊าซเรือนกระจก ไบโอเบส โปรดักต์ ที่ถือเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง” ดร. ภากรกล่าว

มองปี 67 ลุ้น 1,700 จุด

    ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นไทยไม่ดีนักเมื่อเทียบกับหุ้นโลก ซึ่งเฉลี่ยมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 10% แต่ไทยติดลบประมาณ 10% โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี 2566

    แต่ปี 2567 เชื่อว่าสภาวะตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ล่าสุดโครงการแจกเงินดิจิทัลมีการปรับรูปแบบในทิศทางที่ควรจะเป็น จะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา

    “วันนี้ ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,400 จุด ถือว่าต่ำเกินไปมาก เท่ากับสองวิกฤตใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งช่วงซับไพรม์ และโควิด-19 แต่วันนี้หุ้นไทยไม่ได้เผชิญวิกฤตใหญ่ แต่มีวิกฤตศรัทธา ที่ฉุดให้ดัชนีลดลงมาถึงระดับนี้ ทั้งกรณีหุ้น MORE และ STARK รวมถึงหุ้น IPO ที่ยังแย่ไม่ดี รวมถึงยังขาดเม็ดเงินลงทุนระยะยาวทำให้หุ้นไทยมีความผันผวนกว่าตลาดหุ้นโลก

    หากมองดัชนีหุ้นไทยอีก 12 เดือนข้างหน้า คาดจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นไปที่ระดับ 1,623 จุด สูงกว่าระดับดัชนีปัจจุบันราว 15% โดยได้แรงหนุนจากกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีนี้ เศรษฐกิจที่ดีขึ้น รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ท่องเที่ยวกลับมา การส่งออกที่เริ่มทรงตัว และอาจไปถึง 1,700 จุด จากการประเมินของบลูมเบิร์ก คอนเซนซัน” ไพบูลย์กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากกรณี JKN และการควบรวมกิจการของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยสัปดาห์นี้ (13-17 พฤศจิกายน) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ

    โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของ บจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค.รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

    ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ต.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ต.ค.ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เป็นต้น


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การบินไทย 9 เดือนปีนี้ กำไรหมื่นล้าน รายได้ 1.15 แสนล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine