โอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเมียนมา - Forbes Thailand

โอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเมียนมา

ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันของเมียนมาเข้ารับหน้าที่เมื่อปี 2559 ได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ 12 ประการ ซึ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืน และการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติอย่างยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การปรองดองของชาติรวมทั้งส่งเสริมสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ด้วยการปรับปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจให้ทันสมัยขึ้น โดยได้มีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่กฎหมายการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Law) และ กฎหมายบริษัทเมียนมา (Myanmar Companies Law) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 และ 1 สิงหาคม 2561 ตามลำดับ

นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมาอยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และจะเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติดำเนินธุรกิจประกันภัยในเมียนมาได้เร็วๆ นี้ การลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาได้ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเด็นท้าทายต่างๆ อาทิ ผลกระทบจากสถานการณ์ในรัฐยะไข่ (Rakhine State) และโครงสร้างพื้นฐานและไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังไม่สูงเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เมียนมามีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนอย่างยิ่งเนื่องจากมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองตลาดใหญ่สำคัญของจีนและอินเดีย และมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก อีกทั้งเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ไทยและเมียนมาเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partner) โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนกับเมียนมาเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เมียนมาให้ความสำคัญกับไทย โดย Aung San Suu Kyi ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา และ Win Myint ประธานาธิบดีเมียนมา ต่างเลือกที่จะเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกภายหลังเข้ารับตำแหน่ง นอกจากนี้ มีคนเมียนมากว่า 1 ล้านคนมาทำงานในประเทศไทย (ตัวเลขตามสถิติทางการ) อีกทั้งคนเมียนมายังชอบที่จะมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย มีความรู้สึกดีต่อประเทศไทย ชอบสินค้าไทย และนิยมเดินทางมารับการรักษาพยาบาล รวมทั้งการศึกษาที่ไทย รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญกับการบูรณาการการปฏิรูปเศรษฐกิจ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านเศรษฐกิจแห่งชาติเมื่อปี 2559 และเตรียมแผนการพัฒนาเมียนมาอย่างยั่งยืน รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อปี 2560 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมามีนโยบายส่งเสริมกระบวนการลงทุนที่โปร่งใสมีประสิทธิภาพ กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของเมียนมาไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทท้องถิ่นกับบริษัทต่างชาติ อีกทั้งกฎหมายบริษัทฉบับล่าสุดของเมียนมาได้อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทท้องถิ่นได้ถึงร้อยละ 35 โดยไม่ถือเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งขยายโอกาสให้ต่างชาติดำเนินธุรกิจการค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การปรับปรุงถนน ทางด่วน ความร่วมมือกับ ADB และ JICA การเพิ่มกำลังไฟฟ้าอีก 3,000 เมกะวัตต์ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำและแสงอาทิตย์ภายใน 3 ปี รวมทั้งการเปิดประมูลด้านการสำรวจก๊าซบนชายฝั่งและนอกชายฝั่งรอบใหม่ภายในสิ้นปี 2561 เมื่อคำนึงถึงศักยภาพของเมียนมาและโอกาสการค้าการลงทุนแล้ว สิ่งที่ภาครัฐจะสนับสนุนได้คือการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับสูง เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิด สำหรับภาคเอกชนนั้น ต้องติดตามพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างใกล้ชิด เยี่ยมชมพื้นที่ พบปะหารือกับรัฐบาลและเอกชนท้องถิ่น พบปะหารือกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา และหน่วยงานภาครัฐของไทยในเมียนมา เช่น สถานเอกอัครราชทูต และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ซึ่งพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการเข้าสู่ตลาดเมียนมา โดยขอให้นักธุรกิจไทยเข้ามาลงทุนด้วยความรับผิดชอบ มุ่งหวังที่จะคืนกำไรสู่สังคมด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เพื่อให้เมียนมาเห็นถึงความจริงใจ และความตั้งใจที่จะพัฒนาไปร่วมกันอย่างยั่งยืนโดยที่ในปัจจุบันเมียนมากำลังเผชิญกับความกดดันจากนานาประเทศ (โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตก) เกี่ยวกับปัญหาในรัฐ Rakhine ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจึงควรติดตามพัฒนาการของปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่ประเทศทางตะวันตกและองค์กรระหว่างประเทศจะนำมากดดันเมียนมา ที่อาจบานปลายจนมีผลกระทบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   จักร บุญ-หลง อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุง Yangon
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ พฤศจิกายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine