ภาษีนำเข้าไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยขึ้น - Forbes Thailand

ภาษีนำเข้าไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เราต้องระลึกอยู่เสมอในการทำสงครามทางการค้านั่นก็คือภาษีศุลกากร ซึ่งมีนัยไม่แตกต่างจาก 'ภาษีการขาย' เมื่อคุณได้ยินว่ามีการเรียกเก็บภาษีศุลกากร 25% กับสินค้าเหล็ก ให้แปลว่ามีการเรียกเก็บภาษีการขาย 25% กับสินค้าเหล็ก ซึ่งจะช่วยทำให้คุณเข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น

การกล่าวว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่เราได้รับนั้นไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่า 'เราก็เจ็บตัวด้วย' ได้ ถ้าหากว่าการตกลงซื้อขายไม่หยุดชะงักลง ผู้ส่งออกของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเกษตรกร ก็จะรับรู้ได้ถึงการตอบโต้กลับอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับบริษัทของเราที่มีสาขาในต่างประเทศด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระลึกไว้ก็คือ ถึงแม้บริษัทหรือภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้าระหว่างประเทศ แต่โอกาสทางธุรกิจของพวกเขาก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเนื่องจากบริษัทหรือภาคอุตสาหกรรมเหล่านั้นมีความเกี่ยวพันกับบรรดาผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ หรือแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้าระหว่างประเทศมากกว่า ลองมองย้อนไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในยุค 1930 ถึงแม้ว่าองค์กรสัญชาติอเมริกันส่วนใหญ่จะไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้า แต่องค์กรเกือบทุกแห่งกลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากพระราชบัญญัติภาษีศุลกากร Smoot Hawley ปี 1929-1930 ซึ่งลงเอยด้วยการบ่อนทำลายการค้าและระบบการเงินโลก รวมถึงเป็นชนวนก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัวซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ พากันลดอัตราภาษีศุลกากรและการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งส่งผลดีกับพวกเรา ลองมองย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในยุค 1930 อีกครั้งเพื่อมองหาทางเลือกอื่นๆ การนั่งลงและเจรจากันหรือที่เรียกว่าการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร หรือญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับการปรับปรุงข้อตกลง Nafta สาเหตุที่เราไม่มีแดนสวรรค์แห่งการค้าเสรีซึ่งเป็นโลกที่ไม่มีภาษีศุลกากรหรืออุปสรรคทางการค้าใดๆ ในปัจจุบันทันที ก็เป็นเพราะว่าทุกประเทศมีเขตเลือกตั้งที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง ลองถามแคนาดาเกี่ยวกับความไม่เต็มใจของสหรัฐฯ ในการเปิดโอกาสให้แคนาดาสามารถส่งออกไม้เนื้ออ่อนแปรรูป รวมถึงของป่าอื่นๆ เข้าสหรัฐฯ ได้อย่างเสรีดูก็ได้ ความจริงแล้วสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดรับการค้าเสรีมากที่สุดประเทศหนึ่ง บางครั้งการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตามแนวชายแดนเพียงฝ่ายเดียวก่อน จะเป็นตัวนำไปสู่ข้อตกลงทางการค้าที่ดีขึ้นในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองข้ามความเป็นไปได้ว่าบางประเทศอาจสรุปว่าในทางการเมือง ศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าข้อตกลงทางการค้าในระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการจัดเก็บภาษีศุลกากรซึ่งจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดหรือไม่ ความไม่แน่นอนเช่นนี้ทำลายบรรยากาศในการลงทุน เราต้องต่อกรกับการทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมของจีน อย่างไรก็ดี การร่วมมือกับพันธมิตรของเราเพื่อสร้างแนวหน้าที่มีความเหนียวแน่นนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่าการคิดเองทำเองฝ่ายเดียว อีกอย่างหนึ่ง เราควรนำปัจจัยที่เป็นลางร้ายมาพิจารณาประกอบไปด้วย การเปิดศึกทางการค้าของสหรัฐฯ กับทุกคนนั้น ถ้าหากว่ายังคงดำเนินต่อไป จะบั่นทอนพละกำลังของเราอย่างมาก และบางทีอาจบ่อนทำลายสัมพันธภาพที่ก่อตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนำไปสู่ห้วงเวลาอันยาวนานที่ปลอดศึกสงครามและเศรษฐกิจโลกมีความเฟื่องฟูอย่างมากเนื่องจากความผิดพลาดในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ และบรรดาประเทศพันธมิตรต่างก็ต้องเผชิญกับยุคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเกณฑ์ การผลักดันให้เกิดการผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดทางนำไปสู่การลดอัตราภาษีครั้งสำคัญโดยประธานาธิบดี Trump ในที่สุดเริ่มก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าหากเรามีเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีเหมือนในสมัยประธานาธิบดี Reagan แล้วล่ะก็ ประเทศอื่นๆ ก็จะมีทั้งเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีตามเราไปด้วย และมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่างที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศของตนเอง เหมือนดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังจากความสำเร็จในสมัยของประธานาธิบดี Reagan สงครามการค้าที่ขยายวงกว้างขึ้นจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงจะเป็นตัวการนำไปสู่สภาพแวดล้อมแบบต่างคนต่างคิดถึงแต่ตนเองฝ่ายเดียวซึ่งทำให้เกิดรอยแผลที่ยากจะเยียวยา โลกที่นับวันมีแต่ความสับสนวุ่นวายเพิ่มมากขึ้นนี้จะทำลายพวกเราทุกคน และจะเพิ่มพลังอำนาจให้กับระบอบเผด็จการซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของประชาธิปไตย   โดย STEVE FORBES Editor-in-Chief แห่ง Forbes