จับตา 'เทรนด์อนาคต' พลิกมิติซัพพลายเชน - Forbes Thailand

จับตา 'เทรนด์อนาคต' พลิกมิติซัพพลายเชน

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Mar 2024 | 09:00 AM
READ 1296

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์ศักยภาพสูงที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย แม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการซัพพลายเชนยังมีการประยุกต์ใช้ AI และ Big Data เนื่องจากการมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือและการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการขาดการเชื่อมโยงที่มักจะเกิดขึ้นระหว่างเครือข่ายดิจิทัลและระบบการทำงานในรูปแบบออฟไลน์


    เพราะวันนี้วิธีการจัดส่ง ขนส่ง และส่งมอบพัสดุทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ ทำให้รูปแบบการทำงานในซัพพลายเชนการขนส่งเปลี่ยนไป โดยการจัดส่งแต่ละขั้นตอนมีการดำเนินงานผ่านระบบดิจิทัล ส่งผลให้ความพร้อมในการใช้งานและคุณภาพของข้อมูลภายในซัพพลายเชนทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้โดยให้ระบบเรียนรู้ผ่าน machine learning และระบบปัญญาประดิษฐ์

    สำหรับหัวใจสำคัญของการนำเอา AI มาใช้งานอยู่ที่ข้อมูล เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลให้ระบบมีความซับซ้อนน้อยลง และช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการจัดการความเสี่ยง รวมถึงผลักดันการเติบโต พร้อมทั้งไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น ทุกธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องมองหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าในยุคปัจจุบัน

    นอกจากข้อมูลที่เป็นกุญแจสำคัญที่สามารถพลิกโฉมซัพพลายเชนในอนาคตแล้ว เทรนด์สำคัญที่น่าจับตามอง ได้แก่ การกำหนดข้อมูลตำแหน่งอัจฉริยะ (location intelligence) หรือการประยุกต์ใช้ AI ในการวิเคราะห์แผนที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานของธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจขนส่ง และอีกหลากหลายธุรกิจในปัจจุบันที่ให้บริการแบบผสมผสานระหว่างการให้บริการแบบออฟไลน์และออนไลน์ 

    อย่างไรก็ตาม ในหลายอุตสาหกรรมยังไม่มีการให้บริการผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งกุญแจที่มาปลดล็อกและสร้างคุณค่าให้ธุรกิจได้อย่างมหาศาลในยุคนี้คือ ความสามารถในการจัดทำแผนที่แบบออนไลน์ด้วยการแทนที่ข้อมูลที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงการจัดระเบียบและวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่ที่มีหลายชั้นให้สามารถแสดงผลออกมาเป็นภาพ เพื่อช่วยในการตัดสินใจ พร้อมทั้งเอื้อให้สามารถกำหนดเส้นทางการจัดส่งสินค้าในแต่ละครั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การบูรณาการข้อมูลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของระบบห่วงโซ่อุปทานบนเครือข่ายดิจิทัลและแบบออฟไลน์ นอกจากนี้ แล้วการบูรณาการข้อมูลลูกค้าหรือข้อมูลภายในของบริษัทเข้ากับเครือข่ายโลจิสติกส์ก็สำคัญไม่แพ้กัน 

    ขณะที่ยังมีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการติดตามการจัดส่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การระบุตำแหน่งสถานที่หรือข้อมูลเชิงพื้นที่ขั้นต้น ในทางกลับกันด้วยความอัจฉริยะนี้จะสามารถสํารวจและวิเคราะห์ข้อมูลในเลเยอร์ต่างๆ ที่หลากหลาย ตั้งแต่ข้อมูลขนาดใหญ่และไปจนถึงการเข้าถึงระบบคลาวด์ได้ทุกที่และทุกเวลา รวมทั้งสามารถจัดการรายละเอียดสำหรับการจัดส่งที่เหมาะสมยิ่งขึ้น การรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายช่องทางเหล่านี้จะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในอนาคต เช่น การเกิดขึ้นของหอบังคับการระบบดิจิทัล ที่สามารถมองเห็นข้อมูลและรายละเอียดของทั้งห่วงโซ่อุปทานได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาตามต้องการ 

    นอกจากนี้ ในอนาคตยังอาจจะเป็นยุคทองของโลจิสติกส์ที่มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในการจัดตารางเวลา กำลังการขนส่ง รวมถึงการวางแผนเส้นทางสำหรับการจัดส่งให้เหมาะสมที่สุดในตลาดที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเป็นหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์ที่น่าจับตามอง รวมถึงความง่ายในการขยายหรือลดขนาดของซัพพลายเชนทำให้ธุรกิจสามารถจัดการการจัดส่ง การผลิต และการขนส่งให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นได้ ทำให้วิถีในการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งช่วยทำให้มั่นใจได้ว่าจะเกิดการทำงานที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดระหว่างการวางแผนกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

    ดังนั้น ธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นมาเป็นเวลานานจะสามารถก้าวหน้าไปอีกขั้นได้อย่างสมบูรณ์ผ่านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์อย่างชาญฉลาด โดยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนที่แยกกันอยู่ พร้อมทั้งปรับปรุงการใช้งานทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ตัวอย่างเช่น การใช้ AI ของ FedEx ในการสร้างแพลตฟอร์มคาดการณ์ความต้องการที่อาจเกิดขึ้น เพื่อช่วยในการวางแผนบริหารความสามารถในการจัดส่ง และการใช้งานหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Robotic Process Automation: RPA) ในศูนย์คัดแยกสินค้า ซึ่งช่วยให้สามารถปรับระบบการดำเนินงานให้เหมาะสมกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างเหมาะสมที่สุด โดยศูนย์กระจายสินค้าประจำภูมิภาคของบริษัทในสิงคโปร์ได้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์แขนกลในการคัดแยกสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการปฏิบัติงาน และการคัดแยกพัสดุได้มากถึง 1,000 ชิ้นต่อชั่วโมง ซึ่งครอบคลุมจุดหมายปลายทางในการจัดส่งสูงสุดถึง 100 แห่งในเวลาเดียวกัน

    ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจให้มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมความสามารถในการตัดสินใจและวางแผนที่แม่นยำยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นกับซัพพลายเชน แต่ยังครอบคลุมทั้งระบบของธุรกิจ เพื่อให้เกิดการเติบโตและความราบรื่นในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ :' Mankind Pharma' ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของธุรกิจยาในอินเดีย

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในรูปแบบ e-magazine