ติดอาวุธบัณฑิตใหม่ไม่ตกงาน - Forbes Thailand

ติดอาวุธบัณฑิตใหม่ไม่ตกงาน

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Jul 2023 | 11:00 AM
READ 8572

    ของประเทศไทยติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด แม้โควิด-19 จะลดความรุนแรงลงจนไทยเปิดประเทศให้มีผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศได้โดยเสรี เศรษฐกิจการลงทุนและการจ้างงานกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันต้องการแรงงานถึง 17,000 ตำแหน่ง กอปรกับมีตัวเลขคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างนิยมออกไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้าและบริการ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 46,000 คนในปี 2562 เป็น 56,000 คนในปี 2564 และสำหรับปี 2565 คาดการณ์ว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณ 65,000 คนแต่ในภาพรวมปัญหาบัณฑิตใหม่ตกงานของไทยไม่ได้ลดลง

    เมื่อเร็วๆ นี้สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยได้เผยว่า ระหว่างกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี 2566 มีแรงงานนักศึกษาจบใหม่ทยอยเข้าสู่ระบบอีกประมาณ 400,000-500,000 คน รวมกับนักศึกษาจบใหม่ชุดปี 2565 ที่ทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ระบุว่า ว่างงานมากถึง 185,410 คนในไตรมาส 3/65


จบมาไม่ตรงกับงาน


    บัณฑิตใหม่ตกงานเนื่องจากเรียนจบไม่ตรงสาขา และหลักสูตรมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์นายจ้าง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน ข้อมูลจาก ธปท., สภาพัฒน์ฯ, สภาองค์การนายจ้าง ฯลฯ ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้บัณฑิตจบใหม่ว่างงาน ได้แก่ ตำแหน่งงานที่ว่างไม่ตรงกับทักษะ วุฒิการศึกษา ค่านิยมของเด็กจบใหม่ หลายองค์กรขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมเมอร์ Data Scientist ซึ่งเป็นทักษะที่ค่อนข้างหายากในภูมิภาค เป็นสาขาที่คนจบมาน้อย นอกจากนี้ แม้สาขาที่จบอาจจะตรงแต่บัณฑิตขาดทักษะที่พร้อมในการทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนถึงปัญหาทักษะ วุฒิการศึกษาความต้องการของบัณฑิตและนายจ้างที่ไม่สอดคล้องกัน หรือ skill mismatch และในกรณีของประเทศไทยเรามีสถานการณ์คล้ายคลึงกับตลาดแรงงานส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่นายจ้างส่วนใหญ่ต้องการแรงงานกลุ่มอาชีพพื้นฐาน เช่น แรงงานทั่วไป แม่บ้านเน้นวุฒิอาชีวศึกษามากกว่าปริญญาตรีที่สะท้อนถึงปัญหา qualification mismatch เพิ่มจาก skill mismatch ที่กล่าวไปแล้ว สุดท้ายคือ ธุรกิจมีแนวโน้มปรับกระบวนการทำงานโดยลดการพึ่งพาการใช้คนและลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนแรงงานมนุษย์


DIY พัฒนาตนเองสร้าง employment


    skills ก่อนจบการศึกษา เพราะค่านิยมสังคมไทยฝังจิตสำนึกให้คนส่วนใหญ่ต้องการได้ปริญญามากกว่าจะพิจารณาความต้องการของตลาดแรงงานก่อนเลือกสายการศึกษาและเพราะสถาบันการศึกษาไทยไม่สามารถสร้างหลักสูตรที่เตรียมนักเรียนนักศึกษาให้มีทักษะพร้อมทำงานได้ทันที ดิฉันจึงขอใช้ประสบการณ์กว่า 30 ปีในวงการ HR เสนอแนะว่า ผู้ที่กำลังอยู่ในรั้วการศึกษาหรือผู้ที่เพิ่งจบและยังว่างงานอยู่ควรเรียนรู้การพัฒนาสร้างความพร้อมให้ตนเองเพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงาน อย่าได้คาดหวังหรือหวังพึ่งพิงสถานศึกษาหรือองค์กรให้เป็นผู้สร้าง employment skills หรือทักษะที่จะได้รับจ้างงานให้แก่เราเท่านั้น เพราะตัวเลขการว่างงานจากอดีตถึงปัจจุบันบ่งชี้ชัดเจนถึงข้อด้อยหลักสูตรการศึกษาไทยและความไม่พร้อมของนายจ้างในเรื่องนี้


ฝึกฝนนอกหลักสูตร


    ดีที่สุดคือ พัฒนาความพร้อมของตนเองร่วมกับผู้ปกครองหรือครูอาจารย์ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ เรียนจบจะได้พร้อมทำงานเลย หรืออาจจะได้งานก่อนจบก็เป็นไปได้สูง ปรับทัศนคติและรู้จัก employment skills หมั่นเรียนรู้และฝึกฝนจากประสบการณ์จริง ก่อนที่จะเรียนรู้ว่า employment skills มีอะไรบ้าง พึงเริ่มจากทัศนคติก่อน โดยเลิกรอให้ครูอาจารย์สอนที่โรงเรียน หรือรอเรียนจบแล้วให้บริษัทนายจ้างฝึกอบรมให้มันจะสายไปมาก ความจริงคือ หลายทักษะเรียนรู้ฝึกฝนได้ตั้งแต่เรียนประถมหรือมัธยม ไม่ว่าจะเรียนสายวิทย์ สายศิลป์ หรือสายอาชีพอะไร

    สรุปข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum-WEF) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า 10 ทักษะที่นายจ้างต้องการจากแรงงาน ปี 2566 คือ

        1. การบริหารทั่วไป (กำหนดเป้าหมาย วางแผน จัดระบบแบ่งงาน ติดตามงาน บริหารคน ประเมินผลงาน และทำงบประมาณ)

        2. การสื่อสารภาษาอังกฤษ

        3. การบริการลูกค้า

        4. ภาวะผู้นำ (การจูงใจทีมงาน การแก้ปัญหาความขัดแย้ง)

        5. การขาย

        6. การบริหารโครงการ

        7. การวิจัยเบื้องต้น (เก็บข้อมูล ประมวลวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้หลักวิชาสถิติ สรุปผลวิเคราะห์)

        8. การวิเคราะห์ข้อมูลแก้ปัญหา

        9. การตลาดเบื้องต้น

        10. การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล

    ทั้งนี้นักเรียนนักศึกษาอาจแสวงหาความรู้และฝึกทักษะเหล่านี้จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้มากกว่าที่เคยคิด การทำกิจกรรมกลุ่ม การจัดนิทรรศการ การจัดสัมมนา การทำโครงงานต่างๆ การขายของในงาน รร. และมหาวิทยาลัย การออกค่ายฤดูร้อน การสมัครเป็นกรรมการบริหารชมรมต่างๆ เช่น ชมรมโต้วาที ชมรมนักประดิษฐ์ ฯลฯ ล้วนเป็นเวทีให้ได้พบปะเพื่อนต่างชั้นเรียนต่างคณะ ได้สื่อสารปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า รู้จักทำงานเป็นทีม ฝึกเป็นผู้นำ ได้วางแผนทำโครงการต่างๆ จัดแบ่งงาน ติดตามงาน ทำงบประมาณของชมรม ประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ กิจกรรมนำร่อง

    ตัวดิฉันเองเมื่อยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยได้ผ่านการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรมากมาย ได้เรียนรู้การพูดบนเวที จัดงานสัมมนาเป็น ทำงบประมาณเป็น รู้จักขอทุน ขอสปอนเซอร์ประชาสัมพันธ์โฆษณา ทำวิจัยเก็บข้อมูลเป็นจากการไปรับจ้างอาจารย์นักวิจัย ฯลฯ กล่าวได้ว่า ก่อนจบมหาวิทยาลัยดิฉันมีทักษะในการทำงานด้านต่างๆ ที่ไม่ได้เรียนจากหลักสูตรโดยตรงและพร้อมทำงานถึงประมาณ 70% ที่เหลือคือ เรื่องการตลาดและการขาย เพราะได้ทำกิจกรรมด้านนี้น้อย แต่ทักษะเหล่านี้หาได้จากการสมัครเป็นพนักงานขาย ซึ่งน้องๆ อาจรวมทุนเล็กๆ น้อยๆ กับเพื่อนฝูงหัดขายของออนไลน์ เช่น อาหาร เสื้อผ้า เพื่อฝึกวางแผนการตลาดและ การขายได้ทั้งสิ้น ด้วยวิธีนี้ดิฉันจึงไม่ประสบปัญหาหางานทำไม่ได้ และยังมีโอกาสเลือกงานอีกด้วย เพื่อนๆ ที่เคยเป็น “เด็กกิจกรรม” ก็ไม่ค่อยมีปัญหาในการหางานเช่นกัน

    สรุปคือ อย่ามุ่งหน้าเรียนตามหลักสูตรเท่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรส่งเสริมบุตรให้เข้าร่วมกิจกรรมหลายๆ สาขา สนับสนุนให้ทำงานพาร์ตไทม์ให้กับห้างร้านต่างๆ ที่เหมาะสม รับจ้างช่วยงานอาจารย์ที่เป็นนักวิจัย ซึ่งจะช่วยเสริมความรู้ ทักษะให้มีรอบตัว คล่องตัว ทำงานได้หลายอย่าง ทำงานกับคนได้หลายประเภท ได้ฝึกแก้ปัญหาจากการทำงานจริง มีสังคมเพื่อนฝูงที่กว้างขึ้น มีรายได้ตั้งแต่ยังเรียน และเมื่อไปสมัครงานก็สามารถแสดงความรู้และทักษะต่างๆ ที่ได้จากประสบการณ์การทำงานที่ทำให้โดดเด่นจากผู้สมัครรายอื่นๆ ทำให้อาจจะได้งานนั้นแม้ว่าจะจบสาขาที่ไม่ตรง แต่มีทักษะทำงานได้จริงที่นายจ้างสนใจมากกว่าใบปริญญา


    อ่านเพิ่มเติม : ตลาดหุ้นไทยลุ้นเปลี่ยนขั้ว หนุนดัชนี 1,620 จุด

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine