ระบบปฏิบัติการข้อมูลสุขภาพ ใน Health Blockchain - Forbes Thailand

ทุกวันนี้ ข้อมูลทางการแพทย์ เริ่มมีการจัดเก็บเข้าสู่ระบบออนไลน์ แต่ยังไม่ได้เป็นแบบเรียลไทม์ เราจะรู้ข้อมูลด้านระบาดวิทยา ก็ต่อเมื่อมีการรายงานเข้ากระทรวงซึ่งก็อาจช้าเกินไป การจัดการระบบสุขภาพ (Health Blockchain) จึงมีความจำเป็นสำหรับการเข้าไปควบคุมโรค ยิ่งถ้าเป็นโรคระบาดร้ายแรง อาจคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก

ด้วยความที่ข้อมูลของผู้ป่วย ต้องเป็นความลับ (Privacy) ทำให้ประโยชน์มหาศาลทางการแพทย์ ถูกล็อคอยู่ในความเป็น Privacy ของแต่ละโรงพยาบาล ในโรงเรียนแพทย์นั้น การเรียนแพทย์ คือการเรียนรู้ จากกรณีตัวอย่างของผู้ป่วยจริง เพราะผู้ป่วยแต่ละราย และโรคในแต่ละเขตภูมิภาคก็ไม่เหมือนกัน หลายปัจจัยที่ทำให้การรักษาแตกต่างกัน การรักษาจึงเป็นศาสตร์และศิลป์ และโรคที่คนส่วนใหญ่เป็นนั้นอาจเป็นโรคพื้นฐานธรรมดา ที่มาไม่ถึงโรงเรียนแพทย์ ซึ่งอาจมีแต่โรคที่ยากที่สุด ทำให้นักศึกษาแพทย์ อาจไม่เคยรักษาโรคทั่วๆไป แต่พอเรียนจบ กลับต้องออกไปเผชิญด้วยตนเอง โดยไร้อาจารย์ที่ปรึกษาแบบในโรงเรียนแพทย์อีกแล้ว บล็อกเชน จะเป็นเครือข่ายระบบคล้ายใยแมงมุมที่ทำให้ประวัติการรักษาคนไข้ และข้อมูลต่างๆ สามารถถูกส่งมาปรึกษา หรือส่งต่อการรักษา (Refer) ได้โดยง่ายขึ้น คนไข้ในชนบททางไกล ก็สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางในเมืองได้ ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ แพทย์จบใหม่ ก็มั่นใจที่จะรักษาคนไข้มากขึ้น และถ้าเราเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี (IOT-Internet of Things) จำพวกนาฬิกาวัดความดันโลหิตก็สามารถส่งข้อมูลมาประมวลผลกับทีมพยาบาลที่ดูแล ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นข้อมูลขยะ และมีประโยชน์จริงในการรักษาและติดตามอาการป่วย นอกจากนี้ เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ ยังสามารถสแกนลายนิ้วมือ หรือสแกนใบหน้าเพื่อตรวจสอบตัวตน รวมถึงประวัติเบื้องต้น และส่งข้อมูลให้ทางโรงพยาบาล เพื่อเตรียมเลือดหรือห้องผ่าตัดได้ทันท่วงที ที่ประเทศสาธารณรัฐเอสโตเนีย (Estonia) ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรป แทบจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มทดสอบระบบ บล็อกเชน ตั้งแต่ปี 2008 หลังจากเคยถูกโจมตีทาง Cyber อย่างร้ายแรงในปี 2007 ตอนนี้ Estonia ใช้ระบบ e-ID card, มี e-Health Record, e-Government การติดต่อรัฐบาลและธนาคารทั้งหมด สามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์  ใน Website ของทางภาครัฐ สามารถทำธุรกรรมดิจิทัลได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ขอใบขับขี่ ใบสั่งยา ขอประวัติการรักษาพยาบาล รับเงินสวัสดิการ แจ้งเกิด แจ้งตาย รวมถึงเริ่มมีโครงการรับประชากรจากทั่วโลกเข้ามาในระบบ ออนไลน์ ของ Estonia ผ่าน e-Residency โดยมีพื้นฐานระบบเป็น บล็อกเชน
ลิขสิทธิ์ภาพ: NTT Data
ในประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น เมืองตัวอย่างของ Smart City เลือกที่จะใช้เทคโนโลยี มาพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน หนึ่งในนั้น คือเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่จะนำมาใช้กับโรงพยาบาล เพื่อเชื่อมข้อมูลกับชุมชน ให้การรักษาพยาบาลมีคุณภาพมากขึ้น ลดจำนวนคนไข้ที่แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) ซึ่งปกติแพทย์ 1 ท่าน อาจต้องตรวจคนไข้ถึง 200 คนในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดระบบ จึงเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป้าหมายคือลดจำนวนคนไข้โรคเรื้อรังระยะสุดท้ายซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมโรคเรื้อรังเช่น ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ที่ไม่ดีพอ ซึ่งจะลดค่ารักษาพยาบาลที่รัฐต้องดูแลคนไข้กลุ่มนี้อย่างมหาศาล
ที่มาภาพโดย: Khon Kaen Smart Living by KK municipal, Manee research project, Srinagarind and Khon Kaen Hospital, and DEPA
   
ที่มาภาพโดย: จังหวัดขอนแก่น
ระบบบล็อกเชนไม่ใช่ระบบที่น่ากลัว ฟังดูตอนนี้ ก็เหมือนสมัยที่ทุกคนขี่ม้ากันอยู่อย่างสบายใจ แล้วมีคนนำรถยนต์ไร้คนขับมาให้ทดลองใช้ หลายคนก็คงกลัวว่าอาจจะเป็นเครื่องจักรสังหารรุ่นใหม่ที่จะทับม้าและคนตาย แต่คนที่กล้าลองก็อาจไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัยและสบายใจ ข้อมูลบนบล็อกเชนจะถูกจัดเก็บเป็นรหัส Hash เช่น 7196759210defdc0 ซึ่งแต่ละ Node ที่เก็บข้อมูลนั้น ก็จะเห็นเป็นแบบนี้ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตให้ไขกุญแจถอดรหัสผ่าน Smart Contract จึงจะแปลรหัสออกมาได้
คงคล้ายกับเวลาเราได้ยินคำว่า เครดิตบูโร ลึกๆ ในใจหลายคนก็มีความกังวลเพราะรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นข้อมูลลับที่กำลังจะถูกเปิดเผยให้ใครสักคนรู้ เปรียบเทียบกับข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล ถ้าบริษัทประกันนำไปใช้ แล้วดูเพียงแค่ว่าเคยป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่นมะเร็งบางชนิด ซึ่งอาจหายแล้ว แต่กลับตัดสิทธิ์ที่จะทำประกัน เช่นประกันอุบัติเหตุ หรือประกันให้บุตรหลาน เพราะกลัวว่าโรคจะมีผลไปถึงบุตรหลาน ทั้งที่ความจริงไม่เกี่ยวกัน โลกยุคข้อมูล (Big data) ยังมีข้อมูลอะไรอีกมากที่ควรจะรวบรวมให้เป็นประโยชน์ ไม่กลายเป็นขยะ โดยอาจใช้ AI (Artificial Intelligence) ช่วยประมวลผล เช่น Watson ของ IBM ซึ่งเป็น AI ที่โด่งดังมาจากการแข่งขันตอบคำถามในรายการ Quiz Show Jeopardy! ชนะอดีตแชมป์ชื่อดัง ในด้านการแพทย์ Watson ถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็งได้อย่างแม่นยำ และคำนวณค่ารักษาพยาบาลได้อีกด้วย แต่ข้อมูลบนนั้น ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ทำให้แพทย์ไทยยังไม่นิยมใช้ เพราะยังไม่ค่อยมีการรวบรวมข้อมูลคนไทยมากนัก แล้วเมื่อไหร่ จะถึงเวลาที่ข้อมูลคนไทย จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนไทยและคนในอาเซียน??!!??