จัดพอร์ตรับ Bond Yield เด้ง ในช่วงไตรมาส 4 - Forbes Thailand

เรายังคงย้ำถึงความเสี่ยงที่ Bond Yield ทั่วโลก มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแรงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และทำให้ความชันของ Yield Curve กลับมาเพิ่มขึ้น แบบ Bear-Steepening (ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น “มากกว่า” ระยะสั้น) ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อระดับ Valuation ของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา มี 2 ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงดังกล่าวรุนแรงขึ้น และอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราเคยคาดเอาไว้ ดังต่อไปนี้

1) กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ (U.S. Treasury Department) ประกาศปรับเพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ขึ้นราว 7.9 และ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 3.20 และ 4.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งรวมแล้วเป็นปริมาณการกู้ยืมในช่วงครึ่งหลังของปีที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วิกฤตทางเงินปี 2008 เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากนโยบายลดภาษีของประธานาธิบดี Trump และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหลังจากการยกระดับเพดานหนี้ในช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา 2) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ตัดสินใจขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เป็น -0.2% ถึง +0.2% จากเดิมซึ่งอยู่ระหว่าง -0.1% ถึง +0.1% ซึ่งส่งผลให้ Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ทะลุ 0.1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการใช้มาตรการ Yield Curve Control ในปี 2016 และทำให้ Bond Yield ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นตาม จาก 2 ปัจจัยใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา เราประเมินว่า Bond Yield ทั่วโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแรงตั้งแต่ “ช่วงปลายไตรมาส 3/2018” และส่งผลให้ความชันของ Yield curve กลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเราคาดว่าหาก Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าระดับ 3.3% ตลาดหุ้นเสี่ยงที่จะปรับฐานอีกครั้ง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยเลือกลงทุนในหุ้น Cyclical ที่ได้ประโยชน์จาก Bond Yield ที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราการเติบโตของกำไร (Earnings Growth) ในระดับสูงซึ่งจะช่วยชดเชยแรงกดดันที่มีต่อระดับ Valuation ได้ โดยเราแนะนำให้นักลงทุนเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม Financials และ IT ในช่วง 2H2018 ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างผลตอบแทนของหุ้นในกลุ่มดังกล่าวกับ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ เป็น “บวก” หรืออีกนัยนึงคือ อัตราผลตอบแทนของหุ้นในกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ  ในขณะเดียวกันผลประกอบการในไตรมาส 2/2018 ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Financials และ IT ก็ออกมาอย่างแข็งแกร่ง และดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยที่อัตราการเติบโตของกำไร (Earnings Growth) อยู่ที่ระดับ +22.5% (คาด +19.9%) และ +37.0% (คาด +30.4%) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้า ในปี 2019 เราคาดว่า Yield Curve จะกลับมาแบนลง แบบ Bear-Flattening (ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น “น้อยกว่า” ระยะสั้น) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังผลจากการกระตุ้นทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง (Fiscal Stimulus) ของรัฐบาลทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาเริ่มลดลง และธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (Restrictive Monetary Policy) ขณะเดียวกันผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนมากขึ้นในปี 2019 ดังนั้น เราแนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุน แบบ Sector Rotation โดยทยอยขายทำกำไรในหุ้น Cyclical ในช่วงปลายปี 2018 หรือก่อนที่ Yield Curve จะกลับมาแบนลง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น Defensive ซึ่งมักทำผลตอบแทนได้ดีเมื่อ Yield Curve แบนลง พร้อมทั้งให้ผลตอบแทนที่ไม่ค่อยผันผวนมากนักตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสินค้าและบริการของบริษัทในอุตสาหกรรม Defensive ได้แก่ อาหาร, เครื่องดื่ม, ยารักษาโรค, ไฟฟ้า, น้ำประปา, บริการทางการแพทย์  ฯลฯ เป็นสิ่งจำเป็นแก่การครองชีพ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจ เราเลือกหุ้นในกลุ่ม Consumer Staples และ Health Care เป็นตัวเลือกหลัก (Top Picks) ของเรา สำหรับ Theme การลงทุนแบบ Defensive ในปี 2019 เนื่องจากทั้ง 2 อุตสาหกรรมสามารถทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งสังเกตได้จากอัตราการเติบโตของกำไรที่ชะลอตัวลงน้อยกว่าตลาด (S&P500 Index) และอุตสาหกรรมอื่นๆอย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังให้ผลตอบแทนที่มากกว่าตลาด (Excess Return) ที่ระดับเฉลี่ย 10% และ 6% ตามลำดับ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยทั้ง 3 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1990